วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พลังเงินทุนต่างชาติ กำลังหลักขับเคลื่อนหุ้นไทยในปัจจุบัน?

ก่อนอื่นขอเอารูปให้ดูก่อน


จากรูปเป็นกราฟ SET ที่มี indicator 2 ตัว คือ Foreign Fund flow และ Volume ของตลาดรวม ตอนนี้ขอพูดถึงเฉพาะส่วนของ Foreign fund flow นะครับ

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมาเงินทุนของต่างชาติเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมาก
ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ปี 2004 - ปลายปี 2006 เงินต่างชาติไหลเข้ารวมทั้งสิ้น +17,033.41 ล้านบาท
ช่วงที่ 2 ปี 2007 ทั้งปี เงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยรวมทั้งสิ้น +6,423.37 ล้านบาท
ช่วงที่ 3 ปี 2008 ทั้งปี เงินต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยรวมทั้งสิ้น -4,611.78 ล้านบาท
ช่วงที่ 4 ตั้งแต่ปี 2009 - ปลายปี 2010 เงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทย +14,714.15 ล้านบาท
ช่วงที่ 5 ตั้งแต่ต้นปี 2011 จนถึงปัจจุบัน เงินต่างชาติไหลออกแล้วรวมทั้งสิ้น -77.59 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าช่วงที่ 1 เงินต่างชาติเข้ามามาก แต่ก็ยังไม่ทำให้หุ้นไทยขยับไปไหน ช่วงนี้เรียกได้ว่าต่างชาติไม่ค่อยมีผลกับหุ้นไทยมากนัก เพราะอะไร ไม่รู้เหมือนกัน น่าจะมาช่วยกันหาคำตอบหน่อย
ช่วงที่ 2 ช่วงนี้เหมือนนักลงทุนไทยเพิ่งตื่น หรือเพิ่งคิดได้ว่าเศรษฐกิจไทยนี่ดีนะ ราคาหุ้นขยับตัวสูงขึ้นมาก เพิ่มขึ้น 300 จุดในปีเดียว
ช่วงที่ 3 เหมือนฟ้าแกล้งอเมริกาเกิดวิกฤต Subprime หุ้นไทยร่วงระเนระนาดจาก 900 จุดในปี 2007 มาเหลือแค่ 400 จุดตอนสิ้นปี 2008 แต่สังเกตุดูที่บอกว่าฝรั่งเอาเงินออกน่ะ เอาออกไปไม่เท่ากับที่เอาเข้าปีที่แล้วด้วยซ้ำ นี่แสดงว่าเราตกใจกันเกินกว่าเหตุหรือเปล่า
ช่วงที่ 4 หลังจากทุกอย่างเริ่มคลี่คลายมีดหล่นลงปักพื้น ฝรั่งกลับมาอีกครั้งด้วยมูลค่ารวมของปี 2009 - 2010 เกือบหมื่นห้าพันล้านบาท หุ้นไทยก็วิ่งไม่ลืมหูลืมตา เกิดเศรษฐีใหม่อายุน้อยๆที่มองเห็นการณ์ไกลมากมาย
ช่วงที่ 5 ปีนี้ 2011 หุ้นไทยทำจุดสูงสุดที่ 1,113.63 จุดเมื่อวันที่ 21 เดือนเมษาแต่หลังจากวันนั้นฝรั่งก็เริ่มรินเงินออกจากตลาดหุ้นไทย

ขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพนะครับ รูปข้างล่างคือรูปก่อนเกิด Subprime


จะเห็นได้ว่าหลังจากฝรั่งเทขายหุ้นออกมา หุ้นไทยก็ร่วง แต่ว่ามีแรงเฉื่อยจากนักลงทุนรายย่อยกลับเ้ข้าซื้อหุ้น ทำให้หุ้นไทยขยับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง แต่จะเห็นได้ว่าฝรั่งไม่กลับเข้ามาซื้อต่อเนื่องอีกเลย ทำให้หุ้นไทยไม่มีแรงซื้อที่แข็งแกร่งที่จะดันดัชนีขึ้นไปทำ New high ได้ จนเกิด Subprime หุ้นไทยร่วงเละเทะดังกล่าว














รูปข้างล่างคือภาพในปัจจุบัน

จะเห็นว่าหลังจากแรงขายหนักๆจากฝรั่งจนทำหุ้นไทยร่วงแรงแล้วก็ไม่ได้มีแรงซื้อต่อเนื่องจากฝรั่งอีกเลยจนทุกวันนี้

ถ้าสมมุติฐานเราอยู่ที่หุ้นจะขึ้นต้องมีแรงซื้อจากฝรั่งมาช่วยดันดัชนี นั่นแปลว่าตอนนี้เราก็ยังอยู่ในขาลงอยู่ใช่หรือเปล่า ?

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เศรษฐกิจต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่

คำกล่าวที่บอกว่าเวลาล้ม ล้มเป็นโดมิโน่นี่ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด เคยเกิดให้เห็นมาแล้วหลายครั้งในอดีต ของไทยก็เคยมีตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นก็กระทบกันไปทั้งโลกโดยเริ่มที่ไทยก่อน ไม่กี่ปีที่แล้วก็วิกฤตซับพรามในอเมริกา ตอนนั้นไทยโดนหนักโดยเฉพาะตลาดหุ้นจากประมาณ 900จุดไปเหลือ 400จุดภายใน 1 ปี ใครโดนมาตอนนั้นคงยังพอจำกันได้ แต่ผมไม่โดน ฮ่าๆเพราะตอนนั้นยังไม่เริ่มเข้าตลาด :D

ล่าสุดตอนนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำก็คือกรีซ ยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย เค้าว่าเศรษฐกิจกรีซส่อแววมานานแล้ว ตั้งแต่ปลายปี 2009 แล้วก็กระเพื่อมเป็นช่วงๆตลอดมาจนเริ่มสุกงอมเมื่อปลายปีต่อมาต้นปีนี้ จนตอนนี้เรียกได้ว่าใกล้เละแล้ว

เละยังไง ก็ตอนนี้รัฐบาลต้องการเงินกู้ก้อนที่ 5 จาก EU และ IMF ขนาด 1.2 หมื่นล้านยูโรเพื่อมาชำระหนี้พันธบัตรที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนสิงหาคมนี้ (พันธบัตรรัฐบาลก็คือรัฐบาลขอกู้เงินกับประชาชนนั่นเอง ที่เค้าบอกว่าพันธบัตรมั่นคงสูงก็เพราะลูกหนี้เป็นรัฐบาล โอกาสเบี้ยวหนี้ก็น้อย แต่ตอนนี้กรีซกำลังจะไม่มีตังไปจ่ายเจ้าหนี้แล้ว) ทีนี้ EU กับ IMF ก็มีเงื่อนไขในการให้กรีซกู้เงิน โดยขอให้กรีซเพิ่มมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อจะได้แน่ใจได้ว่ากรีซจะมีฐานะทางการเงินดีขึ้น จะได้ไม่เบี้ยวหนี้ EU กับ IMF อีกราย ทีนี้ก็เป็นเรื่องสิ เพราะนโยบายรัดเข็มขัดรอบก่อนหน้าโดยการปรับลดค่าแรงและบำเน็จบำนาญก็ทำประชาชนเดือดมาทีนึงแล้ว คราวนี้เลยมีประท้วงใหญ่ ตามข่าวนักข่าวบอกว่ามีไม่ต่ำกว่า 4หมื่นคนที่ออกมาประท้วงรัฐบาล เลยเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีนายจอร์จ ปาปันเดรอู อาจจะปลดนายจอร์จ ปาปาคอนสแตนตินูออกจากรมต.คลัง การเมืองกระเพื่อมทีเดียว แต่แค่นี้ยังน้อยถ้าเทียบกับระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง

เพราะเจ้าหนี้ที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลกรีซไว้คือธนาคารใหญ่ๆทั้งหลายในสหภาพยุโรป ทีนี้พอธนาคารโดนเบี้ยวมันก็จะกระทบเศรษฐกิจของยุโรปต่อเนื่องเป็นลูกโซ่เพราะสภาพคล่องธนาคารจะลดลง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจของยุโรปชลอตัวลง

แถมบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือยังมาตอกย้ำความเชื่อว่ากรีซจะไม่จ่ายหนี้ด้วยการปรับลดเครดิตกรีซเหลือแค่ CCC ซึ่งต่ำกว่า Junk Bond ซะอีก ถ้าเทียบตอนนี้อันดับความน่าเชื่อถือของกรีซก็ต่ำที่สุดในโลกแล้ว โดยต่ำกว่าประเทศยากจนอย่างปากีสถาน และเอกวาดอร์ซะอีก

แล้วทีนี้เกิดอะไรขึ้น ค่าเงินยูโรก็อ่อนสิครับ ทำให้ค่าเงิน US แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโรประกอบกับการที่นักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจยุโรปจะชลอตัว ทำให้ราคาน้ำมันตกแรงเลยทีนี้ โดยสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าเดือนกรกฏาคมลดลงไปถึง 2-3 USD ภายในวันเดียว

ทีนี้พอยุโรปเศรษฐกิจทำท่าจะชลอตัว ซึ่งอเมริกาก็เหมือนจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบ 2 ยิ่งรวมกับจีนที่ตอนนี้ต้องการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจเพราะอัตราเงินเฟ้อขึ้นมาสูงถึง 5% แล้ว ตอนนี้เลยพาให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทยเกิดอาการเซๆ

เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ดี แต่ละประเทศไม่ค่อยมีตังซื้อของ ประเทศที่เน้นการส่งออกอย่างไทยซึ่งประเทศที่นำเข้าสินค้าไทยมากเป็นอันดับ 1 และ 3 คือจีนและอเมริกาจะเป็นยังไง คำตอบที่น่าจะคิดได้ก็น่าจะเป็นไทยก็คงจะเซไปกับเค้าด้วยนั่นแหละ

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ใครได้กำไร

หลายวันมานี้ต่างชาติเทขายตลอดเกือบ 2 สัปดาห์ติดต่อกัน ทำให้ดัชนี SET รูดเป็นน้ำก๊อก แต่ขณะเดียวกันคนที่ทำให้ SET ไม่ร่วงมากก็คือรายย่อยที่ขนเงินมาช้อนซื้อหุ้นที่ต่างชาติขาย จนจะเห็นได้ว่าวันไหนต่างชาติขายวันนั้นรายย่อยซื้อสุทธิ วันไหนที่ต่างชาติซื้อรายย่อยขายสุทธิ จนนักวิเคราะห์บางคนบอกรายย่อยไทยทุกวันนี้เก่งมาก ช้อนซื้อของถูกเอาไปขายฝรั่ง

เป็นอย่างนั้นจริงหรือ???

บางครั้งมองผ่านๆมันก็อาจเป็นแบบนั้น และรายย่อยบางคนก็คงเป็นแบบนั้น แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่แน่นอน เพราะอะไร? ...ก็น่าจะเป็นเพราะในขณะที่รายย่อยซื้อสุทธิดัชนีกลับยังเป็นลบ แถมบางวันลบเยอะด้วย

แปลว่าอะไร ก็แปลว่ารายย่อยที่ซื้อวันที่ลงวันแรกๆติดดอยไง ถึงจะซื้อเฉลี่ยขาลงเพราะคิดว่ามันลงมาเยอะแล้ว แต่ดัชนีมันก็ยังลงไม่หยุดเพราะฝรั่งยังไม่หยุดขาย เพราะงั้นถึงจะเฉลี่ยขาลงต้นทุนก็ยังคงสูงอยู่ดี

ฉะนั้นรายย่อยที่ได้กำไรก็คือรายย่อยคนที่ซื้อวันสุดท้ายก่อนที่ดัชนีมันจะกลับตัวเป็นบวก คนที่ซื้อวันนั้นแหละซื้อของถูกจริง นอกนั้นซื้อแพงหมด !!!

และถ้ามันยังเป็นขาลงอยู่ ดัชนีไม่เด้งกลับไปเท่าหรือเกินทุนรายย่อยที่ซื้อวันแรกๆหรือซื้อเฉลี่ยขาลงจะอยู่ดอยนานแน่นอน

ระวังๆๆๆ ถ้าแนวโน้มตลาดไม่ดีอย่ารีบเข้าไปรับมีด ไม่ใช่แค่บาดมือแต่บาดลึกถึงในทรวงเลยทีเดียว

แบงค์กงเต็ก ?

นึกถึงอัตราเงินเฟ้อของไทยทุกวันนี้ รัฐบาลบอกว่าไม่เกินร้อยละ 4 ในขณะนี้ ซึ่งตัวเลขนี้มาจากตัวเลขเงินเฟ้อที่คิดจากราคาสินค้าควบคุม ไม่อยากคิดว่าอัตราเงินเฟ้อจริงๆของไทยเป็นเท่าไหร่กันแน่

คิดได้อย่างนี้ก็เลยพาลนึกไปว่า เอ๊ะแล้วประเทศอะไรนะที่เงินเฟ้อมากที่สุดในโลกปัจจุบัน เคยได้ยินในหนังสือหลายเล่มบอกว่าประเทศซิมบับเวเงินเฟ้อเลวร้ายที่สุด อือ เลวร้ายนี่มันแค่ไหนนะ เลยไปหาในวิกิ โอ้ววว ดวงตาเห็นธรรม ข้างล่างนี้คือข้อความจากวิกิ

"อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32 ต่อปีในปี 1998 จนถึงร้อยละ 231,000,000 ตามสถิติของทางการในเดือนกรกฎาคม 2008 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และทำให้ธนาคารต้องออกธนบัตรใบละ 1 แสนล้านดอลลาร์มาใช้ ในเดือนพฤศจิกายน 2008 ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการรายงานว่าอัตราเงินเฟ้อของซิมบับเวพุ่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 516 ล้านล้านล้านต่อปี และราคาจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ 1.3 วัน และนับเป็นภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่เลวร้ายเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์โลก รองจากวิกฤติเงินเฟ้อในฮังการีในปี 1946 ซึ่งราคาจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ 15.6 ชั่วโมง"

โอ้วว ธนาคารออกแบงค์มานี่ 0 คงเต็มพรึดไปหมด อยากเห็นจัง แต่ๆๆๆ นี่แค่เริ่มต้น มาดูแบงค์รุ่นที่ 3 ของประเทศนี้กัน แบงค์ 100 ล้านล้านเหรียญ (บ้าไปแล้ว)


แบงค์ข้างบนนี้มีค่าราวๆ 33 ดอลล่าห์สหรัฐ
ในวิกิบอกไว้ว่า "เศรษฐกิจที่ดิ่งลงเหวนี้มีสาเหตุหลักมาจากการบริหารที่ล้มเหลวและการคอร์รัปชันของรัฐบาลมูกาเบ" ปัจจุบันซิมบับเวทำได้ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 5% ในปี 2010 แต่อย่าเพิ่งดีใจ นี่น่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อคิดเทียบกับปีที่แล้ว แต่ยังไงก็ตามอัตราเร่งมันก็ลดลงเยอะ

ประเทศในแทบบ้านเราที่อัตราเงินเฟ้อสูงๆก็คงไม่พ้นเวียตนาม ประเทศที่คาดกันว่าจะเป็นเสือตัวสุดท้ายของเอเซียแต่แล้วก็สะดุดขาตัวเอง เวียตนามเองเงินเฟ้อก็สูงใช้ได้เหมือนกันคือประมาณเกือบ 20% ในปัจจุบัน ไปดูแบงค์เวียตนามกันบ้าง


อืม 5แสนด่อง ก็ไม่เลว

หวังว่าไทยจะหยุดอยู่แค่แบงค์พันก็แล้วกัน